ในอีกไม่กี่ปี สังคมเราจะเริ่มเป็นสังคมของคนเกษียณอายุ เพราะประเทศเราอยู่เป็นโสดกันเยอะ บ้างก็ไม่มีลูก ทำให้มีผู้สูงอายุมากกว่าวันกลางคน และวัยเด็กค่ะ
และที่สำคัญเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์เข้ามามีบทบาทในชีวิตเราเยอะขึ้น ทำให้เรารู้วิธีการดูแลตัวเองมากขึ้น ทำให้คนเราอายุยืนขึ้นเรื่อยๆด้วยค่ะ
แล้วมนุษย์เงินเดือนอย่างเราเรา เตรียมรับมือกับเรื่องนี้หรือยังคะ
“เป็นมนุษย์เงินเดือนต้องวางแผนการออมอย่างไรให้มีเงินใช้ในยามเกษียณ”
- คุณเคยถามตัวเองไหมคะ ว่าตอนเกษียณคุณอยากจะมีเงินใช้เท่าไหร่
- คุณเคยคิดบ้างไหมคะ ว่าต้องเก็บเงินเท่าไหร่จึงจะพอใช้ยามเกษียณ
- เคยคิดไหมว่าตอนแก่คุณจะใช้ชีวิตแบบไหน
- แล้วตอนนี้ล่ะคะ คุณเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณได้เท่าไหร่กันแล้ว
เริ่มตั้งคำถาม แล้วหาคำตอบให้กับตัวเองได้แล้วนะคะ เพราะคำว่า เกษียณอายุ หรือสังคมคนแก่ ฟังดูเหมือนจะนานเลยค่ะ แต่แท้ที่จริงแล้ว มันแค่แป๊ปเดียวเท่านั้นเอง
ถ้าไม่เริ่มวางแผนเก็บเงินไว้ตั้งแต่วันนี้ ระวังจะเตรียมตัวรับมือกับมันไม่ทันนะคะ คงไม่มีใครที่ทำงานมาแทบตาย เพื่อมาลำบากตอนแก่หรอกค่ะ ทุกคนล้วนก็อยากใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสบายทั้งนั้นใช่ไหมคะ
ถ้าอย่างนั้นวันนี้ เรามาเริ่มวางแผนเกษียณ ให้มีเงินใช้แบบไม่ขาดมือไปพร้อมๆกันเลยค่ะ…
อันดับที่ 1 : กำหนดอายุที่อยากจะเกษียณ และอายุที่จะอยู่จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
โดยเฉลี่ยแล้ว คนในวัยทำงานมักจะเกษียณกันประมาณอายุ 50-60 ปีค่ะ หรือบางคนจะเกษียณเร็วกว่านี้ก็ได้นะคะ อยู่ที่ว่าวันนี้คุณมีเงินสำรองพอหรือยัง
อายุที่จะมีชีวิตอยู่ถึงก็คาดเดาเอาจากคนในครอบครัว หรือคิดคร่าวๆเอาไว้ก็ได้ค่ะ
อันดับที่ 2 : คำนวณเงินที่จะใช้จ่ายในหลังเกษียณอายุ
หากตอนนี้เราอายุ 23 ปี ตั้งเป้าว่าจะเกษียณตอนอายุ 50 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 80 ปี โดยวางแผนไว้ว่าจะมีเงินที่จะใช้จ่ายหลังเกษียณ 20,000 บาทต่อเดือน
แต่…ในวันข้างหน้าเงิน 20,000 นี้ จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกนะคะ ดังนั้นเราจึงต้องคำนวณอัตราเงินเฟ้อไว้ด้วย อย่าลืมเรื่องนี้เป็นอันขาดนะคะ เพราะถ้าพลาดไป เงินที่ออมไว้จะไม่พอใช้ในยามเกษียณแน่นอนค่ะ
เมื่อคำนวณอัตราเงินเฟ้อ 3% จะทำให้เงิน 20,000 บาทในวันนี้ จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 44,425 บาทในอีก 27 ปีข้างหน้า
สูตรคำนวณอัตราเงินเฟ้อ
ค่าเงินในอนาคต = เงินต้น x ( 1+ อัตราเงินเฟ้อต่อปี )^จำนวนปี
ดังนั้น เมื่อลองคำนวณดูแล้ว เราจะต้องเตรียมเงินไว้เพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณอีก 30 ปี คิดเป็นจำนวนเงินรวม 26,168,211 บาท ถือว่าเป็นเงินจำนวนมากเลยทีเดียวค่ะ
เพราะฉะนั้นถ้าเก็บเงินไว้เฉยๆเงินก็ไม่งอกเงยขึ้นมา เราจึงควรที่จะนำเงินของเราไปลงทุน ซึ่งการลงทุนก็จะให้ผลตอบแทนที่ต่างกันไปนะคะ
อาจจะนำเงินไปฝากธนาคาร ( ผลตอบแทน 1.82% ต่อปี )
หรืออาจจะนำเงินไปลงทุน ( ผลตอบแทน 5.25% ต่อปี หรือ 10% ต่อปี )
แต่ก่อนจะนำเงินไปลงทุนอะไรก็ต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ก่อนนะคะ
หลังจากที่เรารู้แล้วว่าเราจะเกษียณตอนไหน ต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณเท่าไหร่ต่อมา เราจะมาคำนวณเงินออมในปัจจุบันของเรากันค่ะ ว่าเงินออมในปัจจุบันของเรามีเท่าไหร่
นำเงินที่ไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ – เงินออมปัจจุบัน = ขาดเหลือเท่าไหร่
เพื่อจะได้วางแผนได้ถูกว่าต่อเดือนเราต้องออมเงินให้ได้เท่าไหร่
หากเราเห็นว่าเงินที่เราออมไว้ยังห่างไกลจากเป้าหมายของเรา เราก็จะต้องเร่งมือ วางแผนออมเงินเพิ่มขึ้น โดยเริ่มจาก การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ให้ละเอียดและรัดกุมเลยนะคะ เพื่อให้เกิด เงินออมในแต่ละเดือน ลงมือออมเงินอย่างต่อเนื่องและมีวินัย เลือกช่องทางการลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ด้วยนะคะ
อุปสรรคของการออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ
นอกจากเงินเฟ้อแล้ว ก็ยังมีเงินรักษาตัวเองยามเจ็บป่วย เงินค่าโรงพยาบาล เพราะอายุของเราเพิ่มขึ้นทุกปี สภาพร่างกายก็เริ่มเสื่อมถอยลงค่ะ จากที่ประเมินไว้ก็อยู่ที่ 2-3,000,000 บาทเลยค่ะ
แต่ถ้าเราเตรียมรับมือเรื่องนี้เอาไว้โดยการทำประกันความเสี่ยงไว้แล้วก็ไม่ต้องห่วงเลยค่ะ ใช้ชีวิตยามเกษียณได้อย่างสบายเลย
การวางแผนชีวิตเพื่อเตรียมตัวเกษียณ เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทุกๆคนเลยนะคะ เพราะถ้าเราวางแผนชีวิตของเราได้ดี ในวันข้างหน้าเราก็จะมีชีวิตหลังเกษียณอย่างมั่งคั่ง ใช้ชีวิตในยามแก่อย่างมีความสุข และไม่เป็นภาระของใครอีกด้วยค่ะ
ติดตามเรื่องราวดีๆ กับการวางแผนการเงินของคุณ
“เรียนรู้ซีรี่ย์การเงินดีๆ กับ MONEY SERIES” ปุ่มไลค์ปุ่มแชร์อยู่ข้างๆ ถ้ามือมันว่างๆกดให้กำลังใจกันบ้างนะค๊าาาา^^